Tuesday, June 12, 2007

บริหารใจ…ด้วยไดอารี่บันทึกอารมณ์

โดย ดร. อัญชลี กิ๊บบิ้นส์



มื้อกลางวันของคนทำงานในปัจจุบัน มีไม่น้อยทีเดียวที่กลายเป็น “มื้อลดบุญ” โดยที่เราไม่รู้ตัว นั่งประณามลูกน้องบ้าง นินทาเจ้านายบ้าง หรือไม่ก็ว่าร้ายเพื่อนร่วมงาน น้อยกลุ่มนักที่จะนั่งมองตัวเองว่า ครึ่งเช้าที่ผ่านมา เราโกรธ เราโมโห เราเกรี้ยวกราด เพราะอะไร เรายินดี เราแบ่งปันอะไรกับใครที่เกี่ยวข้องในชีวิตช่วงเช้าเราบ้างไหม เราจะคุมสติให้ชีวิตครึ่งบ่ายผ่านไปได้อย่างไร โดยที่ใจเราเองมีสุข และไม่ต้องทำให้ผู้อื่นได้ทุกข์ใจ และไม่ต้องเอาเรื่องน่าเบื่อหูจากที่ทำงานกลับไปบ่นต่อที่บ้าน หรือแปลงสัญญาณเป็นความหงุดหงิดแล้วระบายกับลูกๆที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร

ถ้าจะเปรียบไป อาการนี้เหมือนกับว่า เรามองไม่เห็นตัวเอง เราละเลยที่จะมองเข้าไปถึงในใจ ในอารมณ์เราเอง พอเรามองไม่เห็นตัวเอง เราก็จะเห็นแก่ใครไม่ได้ นอกจากเห็นแก่ตัว

การมองไม่เห็นตัวเอง สังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ ไม่รู้ตัวว่ากำลังคิดอะไรอยู่ กำลังปฎิบัติอย่างไรต่อใคร หรือรู้ว่าคิดอะไรอยู่แต่ไม่สามารถควบคุมความคิดของตัวเองได้ ปล่อยให้ใจมันคิดต่อไปอย่างเตลิดเปิดเปิง มองแต่ว่า คนอื่นคือต้นตอของปัญหา คนนั้น คนโน้น สร้างปัญหา

จริงๆแล้ว ก็ไม่ได้กำลังจะบอกว่าให้หันมาโทษตัวเองว่าเป็นปัญหา แต่อยากจะให้หันมาฝึกตัวเองแทน ฝึกตัวเองในที่นี้คือ ฝึกใจตัวเอง ซึ่งฝึกยาก เพราะใจเรา ใช้ระบบปฏิบัติการแบบดิจิตอล ชนิดที่ปฏิบัติการแต่ละแว๊บรวดเร็วขนาดที่แทบจะเหนือกว่าความไวแสง

เรื่องนี้พิสูจน์ได้...
แค่ลองเฝ้ามองตัวเองซักห้านาที ลองย้ายใจไปไว้ที่ปลายจมูกแล้วตามนับให้ตลอดได้ไหมว่า สายลมหายใจเข้าออกของเราสัมผัสปลายจมูกเราเองกี่คู่แล้ว โดยที่เราไม่เปิดช่องว่างให้ใจเราไปยุ่งกับเรื่องอื่น ออกจะยากสำหรับบางคน

ถ้าจะฝึกแบบง่ายๆและได้ผลดีไม่น้อย ก็ต้องนี่เลย ทำไดอารี่บันทึกอารมณ์ เอากระดาษมาแผ่นหนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายบวกอันใหญ่ไว้กึ่งกลางหน้า เพื่อจะแบ่งช่องให้ได้สี่ช่องบนแผ่นกระดาษ ช่องบนด้านซ้าย เอาไว้บันทึกเรื่องราวที่มากระทบและเป็นเหตุให้เราอารมณ์ดีช่วงเช้า ช่องบนขวาเอาไว้บันทึกเหตุแห่งอารมณ์ไม่ดีช่วงเช้า ส่วนช่องล่างซ้ายก็เอาไว้บันทึกอารมณ์ดีดีของช่วงบ่าย บันทึกด้วยว่าอะไรคือสาเหตุที่จุดอารมณ์ดีให้ตัวคุณ อีกช่องที่เหลือช่องล่างด้านขวา ก็เป็นที่ว่างไว้บันทึกเรื่องราวของอารมณ์ไม่ดีที่เข้ามากระทบช่วงบ่ายของตัวเอง ลองตามอารมณ์ให้เจอ แล้วสำรวจสาเหตุ ก่อนที่เราจะวิ่งไปหาใครให้มาเข้าข้างเรา หรือปล่อยอารมณ์เตลิดเปิดเปิงจนใจไม่สงบ แล้วเอากลับมาพิจารณา ต่อยอดช่องดี ให้ได้ดีมากขึ้น ละลดเหตุและวางเรื่องที่ก่ออารมณ์ไม่ดี อ่านบันทึกนี้ก่อนนอนทุกวัน ตามอารมณ์เราให้เจอ เราจะรู้ว่า อะไรทำให้เราทุกข์ อะไรทำให้เราสุข เราจะบริหารใจเราอย่างไรที่จะละ วาง ให้ความทุกข์ หรืออารมณ์ที่บั่นทอนใจสบายของเราลงไปได้

ชีวิตที่พัฒนาได้คือ ชีวิตที่เรียนรู้ตลอดเวลาจากความผิดพลาด ตามอารมณ์ให้เจอ แล้วพิจารณาอารมณ์อย่างมีสติ อย่างน้อยพรุ่งนี้ก็ต้องสุขมากกว่าวันนี้

บริหารใจ...แบบประกันความสุข

โดย ดร. อัญชลี กิ๊บบิ้นส์



เคยถามตัวเองบ้างไหมคะว่า สวดมนต์ไปทำไม ทำไมต้องสวดมนต์ พอยิ่งได้มีโอกาสไปได้ยินเสียงสวด “พุธธัง สรณัง คัจฉามิ....” รอบแล้วรอบเล่าที่เปิดเป็น ambiance music ที่สนามบินเมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ยิ่งทำให้เราต้องค้นหามากขึ้นว่าทำไม

หลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันของชาวพุทธ ไขข้อข้องใจเราได้อย่างสนิท สามสิ่งที่เราควรกระทำในแต่ละวันของชีวิตคือ หนึ่ง รักษาศีล สอง สวดมนต์ สาม ปฏิบัติธรรมฝึกสมาธิ การที่เราได้ปฏิบัติกันอย่างครบถ้วนทั้งสามวิธีในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เราเข้าถึงความสุขได้ง่ายขึ้น ได้ชื่อว่าทำบุญกันทุกวัน รับบุญกันไปเต็มๆ แถมเป็นวิธีที่ทำให้เราทำชั่วไม่ขึ้น

วิธีแรกนับเป็นแกนหลัก และเป็นแกนสำคัญที่จะทำให้เราปฏิบัติอีกสองวิธีที่ตามมาได้ง่ายขึ้น เรียกได้ว่า ไม่มีวิธีแรกคือ รักษาศีล สวดมนต์ไปก็ไม่ได้ให้พลังอะไร เพราะเราไม่ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเราไปสวดมนต์ระลึกถึงคุณคำสอนของท่าน สวดไปอย่างไร้ความหมาย ขาดพลัง ขาดความจริงใจว่างั้นก็ได้ แล้วก็ยังผลต่อให้เราฝึกสมาธิอย่างสงบใจไปเสียไม่ได้

เดี๋ยวนี้ได้ยินการตีความที่มาของศีลห้าอย่างน่าสนใจไม่น้อย ไม่ใช่แต่ว่า อย่าฆ่าสัตว์ มันบาป อย่าโกหก มันบาป อย่าลักขโมย มันบาป เรารู้จักแต่ว่าทำแล้วบาป แต่พอได้ฟังการตีความอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเห็นภาพได้มากขึ้น จากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ก็รู้สึกว่าวันนี้เราถือศีลห้าอย่างนักปราชญ์ ศีลห้าเป็นเสมือนแผนประกันความสุข ที่ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน แต่รับปันผลเป็นตัวบุญเต็มๆ เริ่มจากศีลข้อแรก ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ห้ามทำร้าย รังแกทารุณสิ่งมีชีวิตให้ลำบากเดือดร้อน ข้อนี้ท่านว่า คือหลักประกันชีวิต รับรองไม่มีใครต้องถูกปองร้าย ไม่ต้องระแวดระวัง พัฒนาขีปนาวุธกันยกใหญ่ จะมีก็แต่ว่า ชีวิตล่วงไปตามธรรมดาโลก เกิด แก่ เจ็บ ตาย ศีลข้อที่สอง ห้ามพูดปด หรือพูดเสียดสี หยาบคาย ข้อนี้คือหลักประกันสังคม หลายเหตุการณ์ที่เกิดเป็นปัญหาสังคมก็ล้วนแต่เกิดมาจากความไม่ซื่อตรงการหลอกลวงในเชิงธุรกิจ การเหยียดหยามหรือพูดจาโจมตีซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นปัญหาสังคมเหมือนที่เห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวัน ข้อที่สาม ห้ามลักทรัพย์หรือถือเอาทรัพย์คนอื่นมาเป็นทรัพย์เราโดยที่เขาไม่อนุญาต ข้อนี้คือหลักประกันทรัพย์สิน ของเราก็ไม่หาย ของเขาก็อยู่กับเขา ถ้าแต่ละคนปฏิบัติตามข้อห้ามนี้ได้ ไม่ต้องล็อครั้ว ไม่ต้องมัวแต่พะวงจนนอนไม่หลับ ข้อที่สี่ห้ามประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการแย่งชิงของรักของหวงของผู้อื่น ข้อนี้คือ หลักประกันครอบครัว ปัญหาครอบครัวที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ก็เกิดจากการแหกกฎข้อนี้นั่นเอง ไม่สำนึกรับผิดชอบต่อคนรักและครอบครัวของตนเอง และข้อสุดท้ายห้ามดื่มสุราหรือเสพของมึนเมาและเกี่ยวข้องจนติดอบายมุข ข้อนี้คือหลักประกันสุขภาพ

เราเห็นกันเยอะ เดี๋ยวนี้ชีวิตเราสมบูรณ์น้อยลงทุกวัน ความสุขเหลือน้อยเต็มที ชีวิตที่มันน่าจะเบิกบานและเรียบง่าย กลายเป็นชีวิตที่มากไปด้วยความซับซ้อน เต็มกังวล ลองเริ่มตั้งหลักทำดีแบบครบวงจรทั้งห้าในแต่ละวัน เพื่อ ชีวิต ทรัพย์สิน สังคม ครอบครัว คนรัก และสุขภาพ ไม่ให้องค์ประกอบใกล้ตัวอย่างใดอย่างหนึ่งนี้ต้องสั่นคลอน ความสุขก็มีได้ในทุกวัน